วิตามินบี 1 หรือไทอามิน (Thiamine)

วิตามินบี 1 หรือไทอามิน (Thiamine)

วิตามินบี 1 หรือไทอามิน (Thiamine) ชื่อนี้มาจาก Aneurin คือวิตามิน ที่ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท (Anti-neuritics Vitamin) วิตามินบี 1 ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยในการเผาผลาญอาหาร เพื่อใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ช่วยให้อยากอาหาร จำเป็นต่อสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ

การขาดวิตามินบี 1 ทำให้เป็นโรคเหน็บชา อาจพบอาการชา กล้ามเนื้อแขนและขาไม่มีกำลัง ร่างกายอ่อนเพลีย หลงลืมง่าย กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า ถ้าเป็นมากจะมีอาการใจสั่น หัวใจโตและเต้นเร็ว หอบ เหนื่อย เบื่ออาหาร การเจริญเติบโตหยุดชะงัก มีคำถามว่ามือชาข้างเดียวจำเป็นต้องรับประทานวิตามิน บี 1 หรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะหากเป็นโรคเหน็บชา มือจะต้องชาทั้ง 2 ข้าง หากมือชาข้างเดียวอาจเกิดจากการนอนทับมือข้างที่ชา

วิตามินบี 1 สังเคราะห์จากรา แบคทีเรีย และพืช ส่วนสัตว์สร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหาร แหล่งของวิตามินบี 1 คือ ข้าวโอ๊ต เมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวกล้อง หน่อไม้ฝรั่ง ส้ม ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว มันเทศ รำ จมูกข้าว ขนมปัง ยีสต์ ปลา ธัญพืช และน้ำนม

ร่างกายต้องการวิตามินบี 1 วันละ 1.5 มิลลิกรัม หากรับประทานมาก จะถูกขับออกทางปัสสาวะ เพราะวิตามินบี 1 ละลายน้ำ จึงไม่มีรายงานว่า ถ้ารับประทานมากเกินจะเป็นพิษ

ผู้ที่รับประทานข้าวขัดสี ปลาร้าดิบ หมาก พลู และผู้ที่อยู่ไฟ หลังจากคลอดบุตรจะขาดวิตามินบี 1 เนื่องจากข้าวขัดสีถูกขัดเอาจมูกข้าวและวิตามินที่เคลือบผิวข้าวออกหมด ปลาร้าดิบมีเอ็นไซม์ไทอะมิเนส (Thiaminase) ทำลายวิตามินบี 1 หมากพลู มีแทนนินหรือแทนนิก แอซิก ทำลายวิตามินบี 1 และผู้ที่อยู่ไฟหลังจากคลอดบุตรรับประทานแต่ข้าวกับเกลือ จึงขาดวิตามินบี 1

ในเด็ก หากขาดวิตามินบี 1 (Infantile Beri-Beri) จะร้องเสียงแหลม เพราะหงุดหงิด ขาดน้ำตาล หอบ อ้าปากร้องแต่ไม่มีเสียง เพราะกล่องเสียงอัมพาต และเสียชีวิตภานใน 2 ชั่วโมง

ในผู้ใหญ่ หากขาดวิตามินบี 1 เรียกว่า เหน็บชาแห้ง (Dry Beri-Beri) จะมีอาการชา กล้ามเนื้อลีบ อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า เหน็บชาเปียก (Wet Beri-Beri) จะมีอาการชาและบวม (แต่ถ้าบวมในเด็กจะเกิดจากการขาดโปรตีน)

เมื่อกดเนื้อแล้ว เนื้อจะบุ๋มไม่เด้งคืนตัว ยืดมือแล้วแขนสั่น จำอดืตใกล้ๆไม่ได้ พบในพวกดื่มเหล้าจัด และอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า เวอร์นิคโคซาคอฟ (Wernicke-Korsakoff Syndrome) สมองเสียประสิทธิภาพ และพบว่าผู้บ่วยอัลไซเมอร์จะมีวิตามินบี1 ต่ำ

 

แหล่งข้อมูล : หนังสือ คู่มืออาหารเสริม  ฉบับสมบูรณ์ ของ ดร.เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์