คาร์บ๊อกซี่ คืออะไร?

คาร์บ๊อกซี่ คืออะไร?

คาร์บ๊อกซี่เธอราปี (Carboxytherapy) หรือ คาร์บ๊อกซี่ คือ การลดไขมันเฉพาะที่ด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว และจากการศึกษาพบว่า..เมื่อฉีดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง คาร์บอนไดออกไซด์จะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือด และทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป

ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่สำหรับขจัดไขมันหรือเซลลูไลท์ เฉพาะส่วนที่ไม่ต้องการ เช่น บริเวณหน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง หรือ บริเวณก้น
นอกจากนี้ บริเวณน่องหรือสะโพกที่ใหญ่เกินไป และบริเวณแก้มที่ป่องเพราะไขมันที่สะสม ก็สามารถแก้ไขได้เช่นกัน

สำหรับคาร์บ๊อกซี่เธอราปี (Carboxytherapy) นี้ได้มีการนำมาใช้ครั้งแรก เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1932 ที่ฝรั่งเศส และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี ค.ศ.1990 จากนั้น ก็ได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป

ในวงการแพทย์มีการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าไปในช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายในเป็นต้น ซึ่งผลปรากฏว่าไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย

เนื่องจากสามารถละลายน้ำได้ดีและสลายตัวได้รวดเร็ว เมื่อฉีดเข้าไปในผิวหนัง อาจมีอาการปวดและรู้สึกตึงๆ บริเวณผิวบ้าง หากแต่ประมาณร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคลำผิวจะได้ยินเสียงก๊าชใต้ผิวหนัง แต่จะหายไปเองภายในเวลา 1 ชั่วโมง และร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีรอยช้ำเกิดขึ้นและก็จะหายไปได้เอง
  
ข้อควรระวัง : ไม่ควรฉีดในผู้ที่มีปัญหาทางจิต และผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนของเลือด อาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ดังนั้นก่อนปล่อยก๊าสเข้าไป แพทย์ต้องมั่นใจก่อนว่าก๊าซจะไม่ผ่านเข้าไปเส้นเลือดโดยตรง
  
วิธีการทำ: แพทย์จะทำความสะอาดผิวชั้นนอก จากนั้นจะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 มม.) สอดเข้าไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปในปริมาณที่เหมาะสม โดยขณะที่ก๊าซผ่านเข้าไปสู่ชั้นผิวนั้น จะรู้สึกอุ่นบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย เมื่อคลำผิวบริเวณที่ฉีดจะได้ยินเสียงเหมือนมีแก๊ซอยู่ใต้ผิว (cracking) ควรนวดเบา ๆ หลังการฉีด เพื่อให้ก๊าซกระจายตัวสม่ำเสมอ และทำให้กระบวนการสลายตัวของเซลล์ไขมันดีขึ้น ระยะเวลาในการทำต่อครั้งใช้เวลาประมาณ 15 - 30 นาที
  
จากการใช้ปลายเข็มที่มีขนาดเล็กมากจึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้ไม่ต้องฉีดยาชาหรือต้องพักฟื้นหลังการทำแต่อย่างใด ถือว่าเป็นวิธีการสลายไขมันที่ปลอดภัย

ในการฉีดแต่ละครั้งนั้น จะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเข้าไปสู่ชั้นผิวแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน โดยใช้ตั้งแต่ 50 - 200 ซี.ซี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของร่างกาย เช่น บริเวณใต้คาง จะปล่อยก๊าซเข้าไป 10 ซี.ซี. ใต้ท้องแขน 50 ซี.ซี. และ หน้าท้องซ้ายขวาข้างละ 100 - 200 ซี.ซี เป็นต้น

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ฉีดครั้งเดียวแล้วจะเห็นผลทันที อาจจะต้องทำติดต่อกันหลายครั้ง สถานบริการบางแห่งอาจฉีดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งแล้วแต่ปริมาณก๊าซที่ใช้ บริเวณที่ฉีด และร่างกายของแต่ละคน
   
ปัจจุบันการฉีดคาร์บ๊อกซี่ ไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เพราะเท่าที่เห็นแพทย์ทั่วไปก็สามารถทำได้ เพียงแต่ได้รับการอบรมวิธีการฉีด
 
รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา (ผิวหนัง) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า คาร์บ๊อกซี่เธอราปี เป็นการลดไขมัน และเซลลูไลท์เฉพาะจุดด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซตัวนี้ในทางการแพทย์ใช้ฉีดเข้าไปในช่องท้องขณะส่องกล้อง ทาง รพ.ศิริราช เองก็เคยนำมาทดลองใช้เหมือนกัน แต่ยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง ผลที่ได้ทำให้ดีขึ้นนิดหน่อย ไม่เห็นผลทันที ต้องทำติดต่อกันหลายครั้ง
  
คาร์บ๊อกซี่เธอราปี จัดว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสลายไขมันและเซลลูไลท์ใต้ผิวหนังแบบชั่วคราวไม่ใช่วิธีการที่ถาวร เหมือนกับการออกกำลังกาย และควบคุมปริมาณอาหาร

เคยมีการฉีดสารเคมีเข้าไปใต้ผิวหนัง แต่เนื่องจากมีบางคนไปฉีดแล้วแพ้ ถึงขั้นฟ้องร้องกัน จึงได้ยกเลิกไป สุดท้ายก็เลยเปลี่ยนมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีคุณสมบัติสลายตัวได้ อย่างรวดเร็ว
  
แต่การฉีดคาร์บ๊อกซี่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ทำให้เกิดจ้ำเลือดเป็นรอยเขียวช้ำบริเวณที่ฉีด เนื่องจากเส้นเลือดฝอยแตก และน่ากลัวคือ หากฉีดในปริมาณมาก แล้วก๊าซถูกดูดซึมเข้าไปในหลอดเลือด อาจทำให้เกิดฟองก๊าซไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจได้ แม้กรณีนี้จะพบได้ไม่มากก็ตาม
 
ถ้าถามว่าควรจะไปฉีดดีหรือไม่ ก็ต้องย้อนถามกลับว่า คุณจะไปฉีดทำไม เพราะเหตุผลอะไร ถ้าคุณบอกว่า ก็หนูอ้วน มีไขมัน และเซลลูไลท์ อยากสวย ก็ต้องบอกว่า การรักษามีหลายวิธีนะ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ก็เหมือนกับการเดินทางกลับบ้านคุณอาจกลับได้หลายทาง แล้วแต่ว่าจะเลือกทางไหน วิธีนี้อาจเสียค่าใช้จ่ายสูง และเป็นวิธีการชั่วคราว ถ้าคุณมีเงินแล้ว อยากจะทำก็ไม่เป็นไร
 
เพราะคงไม่มีใครไปห้ามได้ แต่ถ้าไม่มีเงินแล้วไปทำ ถามว่าคุ้มหรือไม่คุ้มก็ควรชั่งน้ำหนักและตัดสินใจดู แต่อย่าลืมว่ามันเป็นเทคนิคใหม่ เดี๋ยวนี้คนไหนมือไวก็ให้บริการก่อน ทั้งๆ ที่บางครั้งสังคมยังไม่มีความรู้ด้วยซ้ำ อะไรก็ตามที่เป็นกระแสคงอยู่ไม่นาน