สเตียรอยด์ คืออะไร

สเตียรอยด์ คืออะไร

สเตียรอยด์ คือ ชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไตภายในร่างกายของคนเรา

สเตียรอยด์ที่ถูกสร้างหลักๆ มี 2 ชนิด คือ โคติซอล (Cortisol) และอัลโดสเตียรอยด์ (Aldosterone) โดยถูกสร้างสูงสุดตอนตื่นนอน และต่ำสุดตอนที่เรานอน เรียกว่า Diurnal attern

นอกจากนี้ถ้าร่างกายมีความเครียดต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจร่างกายก็จะหลั่งสารสเตียรอยด์ออกมามากขึ้น
เพื่อควบคุมความกดดันเหล่านั้นตามธรรมชาติ เชื่อว่าถ้าไม่มีสเตียรอยด์เลย ทำให้เราถึงตายได้ทีเดียว

ต่อมาในวงการแพทย์แผนปัจจุบันได้มีการสร้างสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้น มาจากต้นแบบ cortisol เพื่อพัฒนาตัวยาบางชนิดให้แรงขึ้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางชนิด สเตียรอยด์ที่สังเคราะห์จะมีลักษณะเป็นน้ำหรือเป็นผงสีขาวและเป็นเกล็ดตาม ลักษณะความต้องการของผู้ผลิต

หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่ายาแผนปัจจุบัน ที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์มีหลายชนิด เช่น ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาโรคหอบหืดชนิดพ่นสูดทางปาก ได้แก่ เบโดรเมธาโซน และบูเดโซไนด์ ยาหยอดตา ยาป้ายตา ยารักษาโรคไตบางชนิด ยารักษาข้ออักเสบ และยาแก้แพ้ นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายตัวที่เป็นสเตียรอยด์ ซึ่งตัวยาทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร

แม้ว่าในทางการแพทย์สเตียรอยด์จะมีข้อบ่งชี้ทางการรักษามากมาย แต่ในเมื่อสเตียรอยด์มีประโยชน์ ก็ต้องมีโทษอันตรายเหมือนกันหากใช้ติดต่อกันนานเกินไป จะเกิดอาการที่เรียกว่า Cushing's syndrome คือ มีอาการบวม ท้องลาย เป็นสิว ผิวเข้มขึ้น ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย ขนขึ้นตามตัว ติดเชื้อง่าย กดการเจริญเติบโตของเด็กความดันในลูกตาสูงขึ้นทำให้เป็นต้อหิน ตามัว โพแทสเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ นอกจากนี้แล้วยังทำให้ประจำเดือนผิดปกติหรืออาจไม่มีประจำเดือน และความรู้สึกทางเพศลดลง นั่นคืออันตรายจากยาในกลุ่มของสเตียรอยด์

ผลข้างเคียงของสเตียรอยด์

• เลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากสเตียรอยด์ไปทำให้ผนังกระเพาะอาหารและลำไส้บางลง และเสียความสามารถในการป้องกันกรดในทางเดินอาหารที่หลั่งมาเพื่อย่อยอาหาร ดังนั้นหากได้สเตียรอยด์ไปนานๆ ผนังทางเดินอาหารก็จะบางตัวลงจนถึงขั้นทะลุ และเกิดแผลเลือดออกได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีก็เสียชีวิตได้

• กระดูกบาง การใช้สเตียรอยด์จะไปกระตุ้นเซลล์ในกระดูกชนิดหนึ่งร่วมกับกระตุ้นระบบฮอร์โมน ทำให้กระดูกถูกละลายบางลง ซึ่งในคนสูงอายุก็จะลงท้ายด้วยกระดูกพรุนและเกิดกระดูกหักได้ง่าย

• ร่างกายหยุดสร้างสเตียรอยด์ เพราะได้สเตียรอยด์จากภายนอกไปมากพอแล้ว และหากวันใดไม่ได้รับสเตียรอยด์จากภายนอกเข้าไป แล้วเจอเรื่องเครียด (เจ็บป่วย อดอาหาร เครียด) ร่างกายก็จะขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน และไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจทำให้ความดันโลหิตตกลง หมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

• กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย บดบังอาการติดเชื้อต่างๆ เมื่อร่างกายติดเชื้อก็จะไม่มีอาการเจ็บไข้ให้เห็น ทำให้ดูเหมือนสบายดี และเนื่องจากสเตียรอยด์กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเอาไว้ ดังนั้นกว่าจะรู้สึกอีกที เชื้อโรคก็เจริญเติบโตเริงร่าไปทั่วร่างกายแล้ว ซึ่งทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

• ยับยั้งการเติบโตในเด็ก ทำให้เด็กโตช้าและหยุดสูงเร็วกว่าปกติ อันนี้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่เลี้ยงไม่โต

• น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงในผู้ป่วยเบาหวาน หรือทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยาก หากน้ำตาลอยู่ในระดับสูงมากอาจทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้

 

ในชีวิตผู้คนทุกวันนี้ต่างดิ้นรนขวนขวายในการทำมาหากิน ในบางครั้งก็ลืมที่จะมาสนใจดูแลสุขภาพของตัวเองเมื่อมีเหตุเจ็บป่วยขึ้นมา จึงต้องรักษาสุขภาพด้วยการไปหาหมอ หรือซื้อยามากินเองนั่นก็เป็นทางเลือกของคนไข้ว่าจะกินยาแบบไหน

ขณะเดียวกันได้มีกลุ่มผู้มักง่ายลักลอบการผลิตยา โดยไม่ได้รับอนุญาต กลุ่มผู้ผลิตเหล่านั้นมักไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ ขาดความรับผิดชอบ ต่อชีวิตผู้คน จึงได้ใส่สารสเตียรอยด์ลงไป ซึ่งผลในช่วงแรกของการใช้ยาจะรู้สึกว่าดี แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะมีโทษดังที่กล่าวมา