โรคเบาหวาน (การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน แบบครบวงจร)

โรคเบาหวาน (การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน แบบครบวงจร)

องค์การอนามัยโลก(WHO) และสมาคมเบาหวานระหว่างประเทศ (IDF) คาดการณ์ว่าโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นจาก 177 ล้านคนในปี 2543 เป็น 300 ล้านคน ในปี 2568 สำหรับประเทศไทยอัตราความชุกของโรคเบาหวานในประชากรไทยตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไปเพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่องจาก 2.3% (ปี 2532) เป็น 9.6% (ปี 2543) นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 30-50 ของประชากรที่เป็นโรคเบาหวานยังไม่ได้รับการวินิจฉัย

หลักการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เมื่อตรวจพบว่า ตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอาจอื่นๆ ที่อาจตามมาได้อีก เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง

การรักษาแบบครบวงจรของโรคเบาหวาน ประกอบด้วย การควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก และการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งต้องกระทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ

  • การควบคุมอาหาร การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเพื่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีโรคแทรกซ้อนก็จะลดลงด้วย

    หลักการง่ายๆ ในการควบคุมอาหาร

    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
    • รับประทานข้าวเป็นหลัก สลับกับอาหารพวกแป้งเป็นบางมื้อ
    • รับประทานพืชผักให้มาก และรับประทานผลไม้เป็นประจำ เพราะให้สารต้านอนุมูลอิสระสูง
    • รับประทานเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดเป็นประจำ
    • ดื่มนมให้พอเหมาะกับวัย
    • หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน และเค็ม
    • รับประทานอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่างหนึ่งมื้อ และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ห้ามงดอาหาร
    • รับประทานไขมันให้น้อย เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงการทอดใช้การย่าง อบ ต้ม หรือเผาแทนการทอด
    • รับประทานน้ำตาลให้น้อยลง ก่อนรับประทานอาหารให้อ่านฉลากอาหาร หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาล หลีกเลี่ยงคุกกี้ เค้ก ลูกอม
    • หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม โดยการเติมเกลือให้น้อย หลีกเลี่ยงอาหารกระป่อง ให้ชิมรสอาหารก่อนปรุง
    • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
  • การออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้การควบคุมเบาหวานง่ายขึ้น และทำให้น้ำหนักลดแต่ต้องระวังโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลต่ำ
    • การเลือกวิธีออกกำลังกายจะขึ้นกับสุขภาพของแต่ละคน คนที่ไม่เคยออกกำลังกายให้เริ่มทีละน้อย โดยเริ่มจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินไปทำงาน การใช้บันไดแทนบันไดเลื่อน หรือการทำสวน เมื่อท่านแข็งแรงขึ้น ท่านสามารถออกกำลังกายโดยการวิ่ง
    • เลือกกิจกรรมที่ท่านมีความสุข เช่นเต้นรำ และควรออกกำลังกายร่วมกับครอบครัว
  • การรักษาด้วยยา มุ่งเน้นเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ และป้องกันโรคแทรกซ้อนในระยะยาว ปัจจุบันการรักษาด้วยยาได้รับความนิยมในการรักษาโรคเบาหวานเนื่องจาก มีหลักฐานยืนยันว่าการควบคุมเบาหวานที่ดี สามารถลดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามก่อนให้ยาลดระดับน้ำตาล ควรควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างเต็มที่เสียก่อน
  • วิตามินและเกลือแร่ ปัจจุบันพบว่าวิตามินและเกลือแร่ หลายชนิดมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ เช่น
    • วิตามินบี ปริมาณสูง ช่วยบำรุงระบบประสาท และลดอากาชาปลายมือปลายเท้า ของผู้ป่วยเบาหวานได้
    • อัลฟาไลโปอิกแอซิด และวิตามินอี ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันโรคภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้
    • โครเมียม และ สังกะสี พบว่า มีส่วนช่วยในการนำน้ำตาลไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้มากขึ้น จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

โรคเบาหวาน ไม่ได้หวานอย่างที่คิด เมื่อพบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน ต้องรีบควบคุมและรักษาแบบครบวงจร ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงอีกมากมาย

ขอบคุณข้อมูลจาก :

www.mx.kkpho.go.th
www.siamhealth.net
www.megawecare.co.th