โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)

โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)

โคเอนไซม์ คิวเทน โดยทั่วไปเรามักรู้จักกันในส่วนผสมของเครื่องสำอาง เพื่อถนอมผิวพรรณ ลดริ้วรอยหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิว แต่ในทางการแพทย์แล้ว พบว่า โคเอนไซม์ คิวเทน เป็นสารที่พบได้โดยปกติในร่างกายเรา ไม่ได้พบเฉพาะในเครื่องสำอางเท่านั้น และยังมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของเราอีกด้วย

โคเอนไซม์ คิวเทน มีความสำคัญต่อระบบหัวใจและสมองของเราอย่างไร

ในปี คศ. 1957 ได้มีการค้นพบ โคเอนไซม์ คิวเทน ในทุกเซลของร่างกายที่มีชีวิต ซึ่งร่างกายเราสามารถสร้างได้เอง และมีความสำคัญในการสร้างพลังงานพื้นฐานของเซลล์ ทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติ พบมากในอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูง โดยเฉพาะหัวใจ สมอง ตับ ไต ซึ่งหากขาดโคเอนไซม์ คิวเทน จะทำให้ร่างกายขาดพลังงานไปอย่างมาก ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง หรือเซลล์สมองทำงานผิดปกติ นอกจากความสำคัญในการสร้างพลังงานพื้นฐานของเซลล์ต่างๆ แล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์แรง ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ อีกด้วย

โคเอนไซม์ คิวเทน ได้จากอาหารแหล่งใดบ้าง

เราสามารถพบ โคเอนไซม์ คิวเทน จากอาหารต่างๆ เช่น เนื้อปลา เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ ถั่วเปลือกแข็ง แต่ในระหว่างการปรุงอาหารโดยใช้อุณหภูมิสูง เช่น การปิ้ง ทอด ย่าง ซึ่งทำให้ โคเอนไซม์ คิวเทน ถูกทำลายไป การได้รับ โคเอนไซม์ คิวเทนจากอาหารเสริมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ภาวะที่พบว่ามีปริมาณ โคเอนไซม์ คิวเทน ลดลง

  1. การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน
  2. ผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเอดส์ โรคไต โรคเหงือกอักเสบ โรคสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน
  3. ภาวะที่ร่างกายมีความเครียด เช่น ทำงานหนัก , พักผ่อนน้อย , ขาดอาหาร , มีการติดเชื้อ
  4. ร่างกายมีการใช้มากเกินไป ในบางภาวะ เช่น การออกกำลังกาย การเผาผลาญที่มากผิดปกติ อาการช็อกเฉียบพลัน
  5. วัยที่เพิ่มขึ้น ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างโคเอนไซม์ คิวเทน ได้ในปริมาณสูงสุด เมื่ออายุ 20 ปี หลังจากนั้น ปริมาณจะลดลลง เช่น เมื่ออายุ 40 ปี พบเพียง 64% อายุ 80 ปี พบเพียง 36%
  6. ได้รับจากมื้ออาหารน้อยเกินไป

ผลการศึกษาทางการแพทย์ถึงประโยชน์ของโคเอนไซม์ คิวเทน มีดังนี้

1. ช่วยลดผลข้างเคียงของยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน

จากการวิจัยพบว่า ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มดังกล่าว ทำให้ปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทนในร่างกายลดลง เนื่องจากขั้นตอนการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันคลอเลสเตอรอล จะมีผลยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์ คิวเทน ไปด้วย นำไปสู่การขาดโคเอนไซม์ คิวเทน ซึ่งอาการเริ่มแรกจะสังเกตได้จากการมีภาวะกล้ามเนื้อแขน ขาอ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ หากรุนแรงจะมีผลกระทบกับอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับทำงานผิดปกติได้ ผลกระทบดังกล่าวจะพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยาปริมาณสูง ผู้ที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวอื่น ๆ อยู่ก่อน และพบว่าเมื่อให้โคเอนไซม์ คิวเทนเสริม จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้

2. ประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

จากความสำคัญของ โคเอนไซม์ คิวเทน ในการสร้างพลังงานของเซล และการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมของเซลต่างๆ ทั่วร่างกาย จึงมีการนำมาใช้ เพื่อประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น อาการของโรคหัวใจดีขึ้น ความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงลดลง

3. ประโยชน์ต่อสมอง

จากการศึกษาพบว่า ระดับ โคเอนไซม์ คิวเทน ในสมองของคนเราจะเริ่มลดลงเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยดังกล่าวจะมีปริมาณ โคเอนไซม์ คิวเทน ในสมองลดลง และเมื่อให้ โคเอนไซม์ คิวเทน แล้ว ช่วยให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น และยังช่วยชะลอการดำเนินของโรคให้ช้าลงได้อีกด้วย

4. ประยชน์ด้านอื่นของโคเอนไซม์ คิวเทน

นอกจากมีประโยชน์ต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด สมอง และช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตตินแล้ว โคเอนไซม์ คิวเทน ยังช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดจากรังสียูวี และชะลอการเกิดริ้วรอยของผิวเราได้อีกด้วย

ผู้ที่เหมาะสมในการบริโภค

  1. ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน
  2. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
  3. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  4. ผู้ที่มีภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ , ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
  5. ผู้ที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันโรคจากความเสื่อมต่าง ๆ ของร่างกาย
  6. ผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ

คำแนะนำในการเลือกซื้อ

เนื่องจาก โคเอนไซม์ คิวเทน ละลายได้ดีในไขมัน โคเอนไซม์ คิวเทน ที่ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี จะต้องอยู่ในรูปแบบที่ละลายในน้ำมันและน้ำ เช่นรูปแบบที่เรียกว่า อีมัลชั่น ในแคปซูลนิ่ม ที่ร่างกายจะดูดซึมได้ดีกว่า โคเอนไซม์ คิวเทน ที่อยู่ในรูปผงในแคปซูลชนิดแข็ง

ปริมาณที่แนะนำ

ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร

ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน มีโรคเบาหวาน และ/หรือ ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร

ผู้ที่มีภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ , ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน , ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร

ผู้ที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันโรคจากความเสื่อมต่าง ๆ ของร่างกาย หรือเป็นโรคเหงือกอักเสบ รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร

เอกสารอ้างอิง

 

  1. C Giusippe et al, Effect of Coenzyme Q10 on Myopathic Symptoms in Patients Treated with Staitin. Am J. Cardiol 2007:99:1409-12
     
  2. R FL et al, Coenzyme Q10 in the treatment of hypertension: a meta-analysis of the clinical trials, J Human Hypertension 2007:21:297-306
     
  3. Langsjoen, P.H, Potential Role of Concomitant Coenzyme Q10 with statins for patients with hyperlipidemia. Current Topics in Nutraceutical Research 2005;3:149-158
     
  4. N. Hemmi. Coenzyme Q10 : Absorption, tissue uptake, metabolism and pharmacokinetics ; Free Radical Research, May 2006; 40(5):445-453
     
  5. T Rundek, Atorvastatin decreases the coenzyme Q10 level in the blood of patients at risk for cardiovascular disease and stroke. Arch Neurol 2004 Jun ; 61(6) :889-92
     
  6. Textbook of Natural Medicine 2nd edition, vol 1 ; 663-670
     
  7. Alternative Medicine Review 1998,vol 3(1) ; 58-60
     
  8. Coenzyme Q10 , www.healthnotes.com