หวาน (ไข)มัน เค็ม ทำร้ายหัวใจ

หวาน (ไข)มัน เค็ม ทำร้ายหัวใจ

เรามักจะทราบดีว่า อาหารที่ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารหวาน อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารเค็ม ซึ่งอาหารเหล่านี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา และเพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นถึงอันตรายของอาหารต้องห้ามเหล่านี้ เรามีข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ

กินหวานทำให้หัวใจไม่แข็งแรง

   อาหารหวานและอาหารรสมันเป็นอาหารที่หากกินเข้าไปมากๆ จะทำให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฟันผุ อีกทั้งการกินหวานเป็นประจำยังทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่ายอีกด้วย

   นอกจากนั้น อาหารหวานและอาหารมัน ไม่ว่าจะเป็นกะทิ น้ำตาล มีคอเลสเทอรอลสูงและทำให้หัวใจอ่อนแอ โดยเฉพาะคนที่เป็นเบาหวานจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น เพราะเบาหวานทำให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายเสื่อมสภาพ

   ทั้งนี้ อาหารหวานยังทำให้สัดส่วนของคอเลสเทอรอลชนิดเอชดีแอลกับชนิดแอลดีแอลไม่ สมดุลกัน ส่งผลให้มีคราบไขมันติดอยู่ในเลือดของเรามากขึ้น อีกทั้งการกินหวานมากๆจะทำให้น้ำตาลในเลือดไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดนานกว่า ปกติ ทำให้เซลล์ผนังหลอดเลือดของเราถูกทำลายได้ง่ายขึ้น

   ด้วยเหตุนี้อาหารหวาน จึงเป็นอันตรายต่อหัวใจครับ แต่เราก็มีวิธีที่จะลดระดับน้ำตาลในเลือดของเราได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้

  • งดน้ำอัดลมและขนมหวานทุกชนิด กินน้ำตาลให้น้อยลง หากหลีกเลี่ยงน้ำตาล หากเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้น้ำตาลทรายแดงปรุงอาหาร
  • งดผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ละมุด น้อยหน่า และหันมากินผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น มะม่วงดิบ ส้มโอแทน ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า

กินไขมันสูงเสี่ยงหัวใจวายกะทันหัน

   ก่อนที่จะพูดถึงอาหารไขมันสูง เรามาทำความรู้จักไขมันในกระแสเลือดสักเล็กน้อย โดยทั่วไป เราแบ่งไขมันในกระแสเลือดออกเป็น 2 ชนิดดังนี้

  1. คอเลสเทอรอลรวม (Total cholesterol) เกิดจากการรวมกันของคอเลสเทอรอล 2 ชนิดคือ แอล ดี แอล (LDL cholesterol: Low density Lipoprotein) คือคอเลสเทอรอลชนิดที่ ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละมื้อ คอเลสเทอรอลชนิดแอล ดี แอล เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และคอเลสเทอรอลชนิดเอช ดี แอล (HDL-C High density Lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเทอรอลที่มีความหนาแน่นสูง คอเลสเทอรอลชนิดนี้หากมีอยู่ในกระแสเลือดในระดับสูงมาก อาจทำให้เป็นโรคหัวใจตีบได้
  2. ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) เกิดจากการรับ ประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น กะทิ ไข่แดง หอยนางรม การกินแป้งขัดขาว เป็นต้น ในคนปกติหากมีไขมันไตรกรีเซอร์ไรด์สูงกว่า 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจครับ

   เวลาที่เรากินอาหารที่มีไขมันสูง คอเลสเทอรอลชนิดแอล ดี แอล ซึ่งสามารถซึมผ่านเซลล์ได้ จะเข้าไปสะสมในผนังหลอดเลือด และไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวจับกันเป็นก้อน เรียกว่า โฟมาเซลล์ (Foam cell) ทั้งนี้หากกระแสเลือดของคนเรามีระดับของคอเลสเทอรอลชนิดแอล ดี แอล สูง (มากกว่า 190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) จะยิ่งทำให้เกิดการซึมผ่านของคอเลสเทอรอลสู่ชั้นใต้ผนังหลอดเลือดแดง และทำให้เกิดการแตกตัวและปล่อยสารพิษออกมาทำลายผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดการอักเสบ ตีบตัน และปริแตก

   เมื่อผนังหลอดเลือดแดงปริแตก เกล็ดเลือดซึ่งอยู่ในกระแสเลือด จะมาเกาะรวมตัวกันที่ผนังหลอดเลือดจนเป็นลิ่มเลือด และไปอุดตันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตกะทันหันได้

   เพื่อเป็นการป้องกัน เรามีวิธีการดูแลตัวเองควบคุมระดับคอเลทเทอรอลในเลือดดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง สมองสัตว์ และอาหารทะเลบางชนิด เช่น หอยนางรม ปลาหมึก เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน  เช่นอาหารทอด  ผัด เจียว ไปใช้การปรุงอาหารโดยวิธี นึ่ง ต้ม แทน และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น
    ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยรับประทานผัก และผลไม้ให้มากขึ้น

เค็มไปหัวใจตีบตัน

   สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ให้คำแนะนำไว้ว่า ผู้ใหญ่กินเกลือได้ไม่เกินวันละ 6 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) แต่คุณเชื่อไหมครับว่า ทุกวันนี้เรากินเกลือกันมากกว่านั้น ทั้งจากขนมขบเคี้ยว อาหารดอง ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา การกินเค็มนอกจากจะทำให้มีโอกาสเป็นความดันโลหิสูง และโรคไตแล้ว ยังนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจตีบได้อีกด้วย กล่าวคือ

   หากเรากินอาหารรสเค็มติดต่อกันเป็นเวลานาน โซเดียมจะเข้าไปเกาะที่ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งคอยควบคุมการไหลเข้าออกของเลือด ทำให้มีขนาดหนาขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก อึดอัดในทรวงอก เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบได้

   อยากรู้ว่าทำอย่างไร จึงจะลดการกินเกลือลงได้ เรามีข้อแนะนำดีๆมาฝากครับ

  • เก็บกระปุกเกลือหรือน้ำปลาไว้ให้ไกลจากโต๊ะอาหาร และไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาลงในอาหารก่อนชิมรส
  • พยายามกินผักและผลไม้หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แทนผลไม้กระป๋อง หรือของดอง เพราะอาหารจากธรรมชาติมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า
  • ลดการบริโภคอาหารแช่แข็ง และอาหารจานด่วนต่างๆ และหันมาทำอาหารเอง เพื่อจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหารแต่ละมื้อ

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 218