น้ำตาลฟรุกโตส ดีจริงหรือ?

น้ำตาลฟรุกโตส ดีจริงหรือ?

ฟรุกโตสไซรับ (Fructose Syrup) หรือน้ำเชื่อมฟรุกโตส ที่ระบุอยู่บนฉลากข้างขวดเครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ที่วางจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คืออะไร มีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ และเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายแล้ว อย่างไหนมีอันตรายมากกว่ากัน

รู้จักกันก่อน
      ฟรุกโตส (Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ทั่วไปในอาหาร จึงมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ พบมากในผลไม้และน้ำผึ้ง ฟรุกโตสเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายประกอบด้วยน้ำตาลฟรุกโตสและกลูโคส)

      ที่ผ่านมานิยมใช้ฟรุกโตสในอาหารเสริมทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเสริมชนิดที่ใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะฟรุกโตสถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและเซลล์ของร่างกายได้ดี ไม่ต้องผ่านการควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน (ไม่เหมือนน้ำตาลกลูโคส) จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่ร่างกายสังเคราะห์อินซูลินได้น้อยลงหรือ อินซูลินทำงานได้ไม่ดี เพราะเมื่อได้รับน้ำตาลฟรุกโตสเข้าไป เซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้รู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียอย่างรวดเร็ว เช่นกัน

     นอกจากผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ปัจจุบันเรายังพบฟรุกโตสในรูปของฟรุกโตสไซรับหรือน้ำเชื่อมฟรุกโตสในเครื่อง ดื่มนานาชนิด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาเขียว นอกจากนั้นยังพบในขนมอบ ขนมปัง ผลไม้กระป๋อง แยมและเยลลี่ต่างๆ สาเหตุที่ฟรุกโตสได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและรวดเร็วก็เพราะว่าฟรุกโต สให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายและคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น คือ 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี แต่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า นอกจากนั้นรสหวานจากฟรุกโตสยังหวานนุ่มกว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ หากนำมาทำเป็นน้ำเชื่อมพบว่าก็จะมีลักษณะเป็นน้ำเชื่อมใส ไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหารและไม่ทำให้สีของอาหารเปลี่ยนไปเมื่อนำไปใช้กับอาหาร ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายแล้ว ฟรุกโตสจึงคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนการผลิต และความสะดวก

ดาบ 2 คมของผู้ป่วยเบาหวาน
      เมื่อมีการใช้ ฟรุกโตสกันอย่างแพร่หลายเช่นนี้ การวิจัยทางโภชนาการเพื่อศึกษาผลดีและผลเสียของการใช้น้ำตาลชนิดนี้จึงเกิด ขึ้นตามมา ที่น่าสนใจก็คือมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า การที่ฟรุกโตสถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้โดยไร้กลไกการควบคุมนั้น ไม่ได้ส่งผลดีแต่เพียงด้านเดียว เพราะอีกแง่หนึ่งก็คือสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานอยู่และ สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว การใช้ฟรุกโตสในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวเพิ่ม ขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้การควบคุมด้วย ฟรุกโตสจึงเสมือนเป็นดาบสองคมในผู้ป่วยกลุ่มนี้

      โดยผลการวิจัยเชิงสำรวจตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการอุตสาหกรรมเริ่มนำน้ำเชื่อมฟรุกโตสมาใช้มากขึ้น ทำให้การใช้น้ำตาลทรายลดลงนั้นพบว่า หลังจากน้ำเชื่อมฟรุกโตสได้รับความนิยม โรคอ้วนก็เริ่มระบาด แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถยืนยันได้ว่าน้ำเชื่อมฟรุกโตสเป็นสาเหตุ ที่ทำให้โรคอ้วนระบาดในช่วงนั้น เราพบเพียงว่าในช่วงที่ความนิยมใช้น้ำเชื่อมฟรุกโตสเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดโรคอ้วนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และจนถึงปัจจุบันที่ความรู้ด้านโภชนศาสตร์มีมากขึ้น ก็ยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดได้ว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตสเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของโรคอ้วน จึงยังมีการทำวิจัยเพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่อาจจะสัมพันธ์กับน้ำตาลฟรุกโตสอยู่อย่างต่อเนื่อง

      เช่นงานวิจัยที่ทำการศึกษาผลของการใช้น้ำตาลฟรุกโตสในผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้ผู้ป่วยกินน้ำตาลฟรุกโตส แล้ววิเคราะห์หาระดับน้ำตาลในเลือดเปรียบเทียบกับกลุ่มที่กินแป้งพบว่า กลุ่มที่ได้น้ำตาลฟรุกโตสมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นไม่มากนัก ตรงข้ามกับกลุ่มที่ได้น้ำตาลกลูโคสจากแป้งที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มาก ผลการศึกษานี้ยิ่งตอกย้ำ ให้น้ำตาลฟรุกโตสกลายเป็นทางเลือกที่ดีของผู้ป่วยเบาหวานที่อยากกินอาหาร หวานแต่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาล

      อย่างไรก็ดี ต่อมามีผลการศึกษาทางโภชนศาสตร์หลายชิ้นให้ความเห็นที่แย้งกัน โดยระบุว่าการกินน้ำตาลฟรุกโตส 50-60 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 24 สัปดาห์ ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นก็จริง แต่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวาน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และควบคุมได้ นอกจากนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตสเป็นส่วนผสมติดต่อกันเพียง 3 สัปดาห์ จะกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น เป็นผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ก็มีผู้แย้งว่า งานวิจัยเหล่านี้ ไม่ได้ควบคุมการออกกำลังกายและปัจจัยรบกวนอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อน้ำหนักตัว จึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าฟรุกโตสทำให้น้ำหนักเกิน หรือทำให้อ้วน

      เมื่อติดตามผลของการใช้น้ำตาลฟรุกโตสต่อสุขภาพด้านอื่นๆ นักวิจัยก็พบว่า น้ำตาลฟรุกโตสอาจส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงได้ โดยพบว่าฟรุกโตสมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลตัวร้ายที่ชื่อว่าแอลดีแอลคอเลสเตอร อล (LDL-C) ระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือดสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนั้นการใช้ฟรุกโตสในระยะยาวยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคความดันโลหิตสูงได้ รวมถึงน้ำตาลฟรุกโตสยังสามารถถูกกลไกการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายเปลี่ยนให้ เป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งอาจไปเกาะอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ทำให้เกิดภาวะไขมันเกาะตับ (Fatty Liver) ได้ โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

      สมาคมเบาหวานแห่งอเมริกัน (American Diabetic Association) จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้น้ำตาลฟรุกโตสอย่างระมัดระวัง และต้องติดตามผลของระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเป็นระยะ เพื่อความปลอดภัย

      ถึงแม้ว่าความรู้ด้านโภชนาการเท่าที่มีในปัจจุบันจะบอกได้แต่เพียงว่า การกินอาหารที่ให้พลังงานมากเกินกว่าความต้องการใช้ของร่างกาย (ไม่ว่าพลังงานนั้นจะมาจากอาหารหรือน้ำตาลชนิดใดก็ตาม) จะส่งผลเสียต่อสภาวะทางสุขภาพ ทำให้เกิดโทษต่างๆ ตั้งแต่โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ โดยยังมีข้อมูลไม่แน่ชัดว่าการใช้ฟรุกโตสจะเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังเหล่า นี้ด้วยหรือไม่ คำแนะนำที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือ ทุกท่านควรเดินทางสายกลางไว้ก่อน เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลชนิดใดก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เหมือนกัน

แหล่งข้อมูล
หนังสือ:HealthToDay
Article : ดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา)