ซีสต์ที่เต้านม เป็นแล้วเป็นได้อีก

ซีสต์ที่เต้านม เป็นแล้วเป็นได้อีก

ถุงน้ำหรือซีสต์ในเต้านมเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย จึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องซีสต์ กันไว้บ้าง

 ถุงน้ำหรือซีสต์ในเต้านมเป็นสิ่งผิดปกติในเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุด พบมากกว่าก้อนเนื้อหรือมะเร็งเสียอีก ในประเทศตะวันตกมีรายงานว่าพบร้อยละ 7 ของผู้หญิง แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีของเครื่องอัลตราซาวนด์ก้าวหน้ามาก ซีสต์ขนาด 2-3 มิลลิเมตรก็ตรวจพบ ดังนั้นจำนวนที่พบจริงน่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก ช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดคือช่วง 40-50 ปี

ซีสต์ในเต้านมคืออะไร­
     คำว่า “ซีสต์” หรือที่ภาษาไทยเรียกว่าถุงน้ำ เป็นความผิดปกติที่มีผนังบางๆ แล้วมีน้ำอยู่ภายใน คล้ายลูกโป่งที่ภายในบรรจุน้ำ คำว่าถุงน้ำหรือซีสต์นี้สามารถใช้เรียกได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย เช่น ซีสต์ในรังไข่ ซีสต์ในไต ซีสต์ในตับ เป็นต้น

ซึสต์ในเต้านมเกิดขึ้นได้อย่างไร­
    เต้านมของผู้หญิงเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำนมเลี้ยงทารกที่คลอดออก มา ประกอบด้วยต่อมผลิตน้ำนมที่ต่อกับท่อสาขาของท่อน้ำนมประมาณ 15-20 lobes แล้วเปิดออกสู่หัวนม ในบางครั้งมีการเจริญของเซลล์มากเกินไป ทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน ท่อน้ำนมจะขยายแล้วมีน้ำอยู่ภายใน (ซึ่งไม่ใช่น้ำนม) มีขนาดได้ตั้งแต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์จนถึงขนาดใหญ่ อย่างลูกเทนนิส
ถ้ามีซีสต์หลายๆ เม็ดทั่วเต้านมจะมีศัพท์ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “Fibrocystic changes” หรือ FCC เดิมเรียกว่า Fibrocystic disease แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่าภาวะนี้ไม่ใช่ “โรค” แต่เป็น “การเปลี่ยนแปลง” ที่สามารถเกิดได้ใหม่ ดีขึ้น แย่ลง หรือหายไปเองได้ จึงใช้คำว่า Fibrocystic changes แทนที่จะเป็น Fibrocystic disease

ซีสต์ในเต้านมเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง­
     อันดับแรกคือฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจน ฮอร์โมนเพศหญิงที่รังไข่ผลิตมี 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน (estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (progesterone) ฮอร์โมนเพศหญิงทั้ง 2 ตัวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของไข่จากรังไข่ และควบคุมการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อเตรียมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ถ้าตัวอ่อนไม่ได้รับการผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวกลายเป็นประจำเดือน ดังนั้นฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะเกี่ยวข้องกับรอบประจำเดือนโดยตรง

      เต้านมเป็นอวัยวะแสดงความเป็นเพศหญิง มีหน้าที่ผลิตน้ำนม ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศหญิงทั้ง 2 ชนิดนี้เช่นกัน โดยเอสโตรเจนจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการยืดตัวของท่อน้ำนม (elongation) ส่วนโปรเจสเตอโรนจะเกี่ยวข้องกับการแตกแขนง (branching) และการพัฒนาต่อมผลิตน้ำนม

      ในสตรีที่ได้รับฮอร์โมนเสริมวัยทอง (Hormonal replacement therapy หรือย่อว่า HRT) พบการเกิดซีสต์ในเต้านมมากกว่าสตรีกลุ่มที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเสริมอย่างมีนัย สำคัญทางสถิติ

      นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าในสตรีที่ได้รับรับยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มี ชื่อว่า tamoxifen ในการรักษามะเร็งเต้านม พบซีสต์ในเต้านมน้อยลงหรือหายไป

      ปัจจัยต่อมาคือภาวะใกล้หมดประจำเดือน (perimenopausal status) ดังที่กล่าวข้างต้นว่าช่วงอายุที่พบซีสต์ในเต้านมได้บ่อยที่สุดคือช่วงอายุ 40-50 ปี ในวัยนี้ปริมาณเอสโตรเจนในช่วงก่อนตกไข่สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของรอบประจำเดือนในหญิงอายุน้อย จึงทำให้มีโอกาสเกิดซีสต์ได้มากกว่า

      นอกจากปัจจัยข้างต้น เชื่อว่ากรรมพันธุ์ก็มีผลต่อซีสต์ในเต้านม ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่มีการผ่าเหล่า (mutation) ในยีนที่มีชื่อว่า BRCA1 หรือ BRCA 2 นอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมยังพบการเกิดซีสต์ในเต้านมสูงขึ้น

อาการของซีสต์ในเต้านม
     ซีสต์ที่มีขนาดเล็กหรืออยู่ลึกในเต้านมอาจตรวจไม่พบจากการคลำ แต่บางคนอาจมีอาการเจ็บบริเวณที่มีซีสต์ โดยตรวจร่างกายไม่พบก้อนก็เป็นได้ ถ้าซีสต์มีขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้ผิวหนังจะคลำได้เป็นก้อน ขอบเรียบ จับโยกได้เล็กน้อย อาจสังเกตว่าก้อนที่คลำได้นี้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเจ็บมากขึ้นในช่วงใกล้มี ประจำเดือน (ช่วงเวลาเดียวกับที่มีอาการคัดตึงเต้านม) และรู้สึกว่าเล็กลงหรือเจ็บน้อยลงหลังมีประจำเดือน เนื่องจากซีสต์มีการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

จะรู้ได้อย่างไรว่าก้อนที่คลำได้เป็นซีสต์
      ในการวินิจฉัยก้อนในเต้านมจะใช้หลัก “Triple test” หรือการทดสอบ 3 อย่าง ประกอบด้วยการตรวจร่างกายโดยแพทย์ การส่งตรวจแมมโมแกรมและ/หรืออัลตราซาวนด์และการเจาะตรวจโดยใช้เข็มเก็บชิ้น เนื้อ (Core needle biopsy หรือ CNB) หรือใช้เข็มฉีดยา (Fine needle aspiration หรือ FNA)

      การตรวจร่างกายอาจไม่สามารถแยกระหว่างก้อนเนื้อและซีสต์ได้ ศัลยแพทย์บางท่านอาจใช้เข็มฉีดยาเล็กๆ ลองดูดที่ก้อน ถ้าดูดได้น้ำแล้วก้อนที่คลำได้นั้นยุบลง สามารถวินิจฉัยว่าก้อนที่คลำได้นี้เป็นซีสต์ ในขณะที่ศัลยแพทย์บางท่านอาจส่งตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ก่อนที่จะทำการ เจาะน้ำ

      การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมไม่สามารถแยกระหว่างก้อนเนื้อและถุงน้ำได้อย่าง แม่นยำ เนื่องจากธรรมชาติของเนื้อและน้ำจะมีความทึบรังสีใกล้เคียงกัน เครื่องมือตรวจที่ให้การวินิจฉัยซีสต์ได้ดีที่สุดคืออัลตราซาวนด์ ลักษณะของซีสต์ที่ปรากฏในอัลตราซาวนด์จะมีลักษณะเดียวกันไม่ว่าจะเป็นซีสต์ ที่อวัยวะใด กล่าวคือมีผนังบางเรียบ รูปร่างรูปไข่หรือรูปกลม (ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่) เห็นเป็นก้อนสีดำ (ถ้าเป็นก้อนเนื้อจะเป็นสีเทา) และมีแถบสีขาวหลังก้อน (รูปที่ 1) ถ้าพบลักษณะดังกล่าวสามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นซีสต์ได้อย่างถูกต้อง โดยทางการแพทย์จะเรียกว่าซีสต์ลักษณะนี้ว่า “Simple cyst”

      ในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มักมีเนื้อเต้านมหนาแน่น ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการแปลผลแมมโมแกรม เนื่องจากเนื้อเต้านมจะบดบังความผิดปกติ อัลตราซาวนด์จะเป็นเครื่องมือตรวจหลักในสตรีกลุ่มนี้

น้ำในซีสต์เป็นอะไรได้บ้าง
     ส่วนใหญ่น้ำในซีสต์จะเห็นเป็นน้ำสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อนคล้ายฟางข้าว ใส ซึ่งซีสต์ที่มีน้ำลักษณะนี้จะแสดงลักษณะของ simple cyst ในอัลตราซาวนด์ (รูป 1) แต่บางกรณีน้ำในซีสต์จะมีลักษณะขุ่นหรือมีตะกอน เช่น จากเศษของเซลล์เยื่อบุท่อน้ำนม โปรตีน ผลึกโคเลสเตอรอล เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เป็นต้น (รูป 2) ทำให้ลักษณะที่เห็นในอัลตราซาวนด์มีตะกอน (รูป 3) เห็นน้ำแยกเป็นชั้น หรือมีสีเทา ซึ่งแบบหลังทำให้ไม่สามารถแยกได้จากก้อนเนื้อ ซีสต์ที่มีลักษณะทางอัลตราซาวนด์ไม่เข้ากับ simple cyst ทางการแพทย์จะเรียกว่า complicated cyst ในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องเจาะดูดน้ำส่งตรวจเซลล์ เจาะชิ้นเนื้อ หรือมีการติดตามผลด้วยอัลตราซาวนด์ในอีก 3-6 เดือนถัดไป ขึ้นกับรายละเอียดปลีกย่อยในผู้ป่วยแต่ละราย

ซีสต์เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมหรือไม่
      ซีสต์ในเต้านมไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ถึงแม้เป็นภาวะที่สร้างความรำคาญ เช่น เป็นก้อนอยู่เรื่อยๆ เจ็บ ฯลฯ แต่สบายใจได้ว่าถ้าได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ ยืนยันว่าเป็นซีสต์ ซีสต์นี้ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน การพบซีสต์ 1 เม็ดกับ 20 เม็ด พบซีสต์ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ไม่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเท่ากัน ในการรายงานผลอ่านแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ของรังสีแพทย์ การตรวจพบซีสต์จะจัดอยู่ใน BI-RADS (Breast Imaging Reporting and Data System) 2 ซึ่งเป็นระบบรายงานผลสากล แสดงว่าสิ่งที่ตรวจพบไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม สามารถตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ในอีก 1 ปีถัดไป
อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางอัลตราซาวนด์ต้องเข้ากับ simple cyst ดังที่กล่าวในหัวข้อที่ผ่านมาก ถ้ามีลักษณะที่สงสัยว่ามีส่วนที่เป็นเนื้อร่วมอยู่ในซีสต์ ควรต้องมีการเจาะดูดน้ำหรือตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม หรือมีการติดตามผลอัลตราซาวนด์ในระยะสั้น (3-6 เดือน)

การรักษาซีสต์
      ในเมื่อซีสต์ไม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม สามารถหายได้เอง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่มากระตุ้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องทำอะไร การเจาะดูดน้ำ (FNA) มักพิจารณาทำในกรณีที่

      1. ซีสต์ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น คลำได้ก้อน เจ็บ การเจาะดูดน้ำจะทำให้ซีสต์และอาการเจ็บหายไป
      2. ต้องการน้ำในซีสต์ส่งตรวจทางเซลล์วิทยา เนื่องจากลักษณะทางอัลตราซาวนด์ของซีสต์ดังกล่าวไม่ใช่ simple cyst

     ถ้าซีสต์นี้คลำได้จากการตรวจร่างกาย ศัลยแพทย์มักจะเป็นผู้เจาะดูดน้ำ ถ้าน้ำที่ได้ไม่มีเลือดปน ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเซลล์ แต่ในทางปฏิบัตินั้นพบว่าคนที่ไปรับการรักษาเกือบทั้งหมดอยากให้ส่งน้ำที่ ได้ตรวจเซลล์ โดยให้เหตุผลว่าไหนๆ ก็เจาะแล้วจะทิ้งก็เสียดาย ในตำราจะแนะนำให้ตรวจเต้านมโดยการคลำหลังเจาะ 6 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าซีสต์ไม่กลับมาอีก แต่ถ้าน้ำที่เจาะได้มีเลือดปนจำเป็นต้องส่งตรวจเซลล์และตรวจแมมโมแกรมร่วม กับอัลตราซาวด์เพราะอาจมีโอกาสที่ซีสต์นี้ไม่ใช่ซีสต์ธรรมดา แต่มีมะเร็งซ่อนอยู่ ซีสต์ที่เจาะยุบแล้วแต่กลับเป็นขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลาไม่นาน เช่น ไม่กี่สัปดาห์ก็กลับเป็นซ้ำอีก ก็จำเป็นต้องส่งตรวจเซลล์และตรวจแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์เช่นกัน

      ในกรณีที่ซีสต์คลำไม่ได้แต่มีอาการเจ็บเฉพาะที่ ตรวจอัลตราซาวนด์พบว่าเจ็บจากซีสต์ สามารถเจาะดูดน้ำโดยดูจากอัลตราซาวนด์ (รูป4) วีธีนี้มีข้อดีตรงที่สามารถแน่ใจได้ว่าเข็มอยู่ในซีสต์ที่ต้องการดูดจริง และประเมินได้ว่าดูดน้ำออกจนหมด

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากเป็นซีสต์ที่เต้านม­
      มีคนมาถามอยู่เสมอๆ ว่ามียารับประทานให้ซีสต์หายไปหรือไม่ คำตอบคือในขณะนี้ยังไม่มียาตัวใดที่ใช้รักษาซีสต์ในเต้านม แต่เราสามารถลดปัจจัยเสริมได้ เช่น ถ้ารับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ อาจเลี่ยงโดยใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่น เนื่องจากยาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนเพศหญิง

       ในกรณีที่มีอาการเจ็บเต้านมที่เกี่ยวข้องกับซีสต์ แนะนำให้สวมเสื้อชั้นในชนิดซัพพอร์ตเพื่อพยุงเต้านม นอกจากนี้มีงานวิจัยที่ตั้งข้อสังเกตว่าคาเฟอีนในอาหารทำให้เจ็บเต้านมมาก ขึ้น ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอาการเจ็บเต้านมที่เกี่ยวข้องกับซีสต์

       การลดอาหารที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต อาจช่วยบรรเทาอาการได้
การลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในอาหาร อาจช่วยให้การคั่งของน้ำในท่อน้ำนมลดลง แต่การศึกษายังไม่เป็นที่สรุปว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร

       ระยะหลังมีงานวิจัยพบว่าน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (evening primrose oil) ชนิดรับประทาน อาจช่วยลดอาการเจ็บเต้านมที่เกี่ยวข้องกับซีสต์ได้เช่นกัน แต่ยังต้องรอการศึกษาต่อเนื่องจึงจะสามารถสรุปผลได้อย่างแน่ชัด

Article : ผศ.พญ.ชลทิพย์ วิรัตกพันธ์ รังสีแพทย์