ควรบริโภคก่อน กับ หมดอายุ ต่างกันอย่างไร

ควรบริโภคก่อน กับ หมดอายุ ต่างกันอย่างไร

ผลการสำรวจความรู้ของผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ จำนวน 474 คน จาก 8 จังหวัดในทุกภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2554 เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่อง วันหมดอายุของอาหาร พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า "วันหมดอายุ" กับคำว่า "ควรบริโภคก่อน" ผู้บริโภคร้อยละ 47.3 ตอบว่า  คำสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน ร้อยละ 48.1 ตอบว่าต่างกัน แสดงว่าผู้บริโภคกว่าครึ่งยังสับสนในความหมายของคำเหล่านี้ที่ระบุไว้บนแลากอาหาร

"หมดอายุ" หมายถึง วันที่อาหารนั้น หมดอายุ หลังจากวันนั้นแล้วอาหารนั้นจะเน่า เสีย หรือบูด จึงห้ามรับประทาน ควรทิ้ง

"ควรบริโภคก่อน" หมายถึง อาหารจะมีรสชาติดี ยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารจนถึงวันนั้น หลังจากวันนั้นไปรสชาติ คุณภาพและคุณค่าทางอาหารจะลดลง แต่จะไม่มีปัญหาในเชิงความปลอดภัย จึงยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย แต่อาจไม่ได้ประโยชน์จากอาหารนั้นตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารได้

โดยทั่วไปผู้ผลิตมักจะเลือกใช้คำว่า "ควรบริโภคก่อน" และมักกำหนดวันล่วงหน้าไว้ระยะหนึ่งก่อนที่อาหารนั้นๆ จะหมดอายุหรือเสีย ดังนั้น วันที่ที่ระบุหลังคำว่า ควรบริโภคก่อน คือ คำแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานอาหารนั้น เพื่อความสด รสชาติ และ สารอาหารในอาหารนั้นๆ ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลง หรือ ลดคุณภาพลง

อย่างไรก็ตาม อาหารบางชนิด เช่น อาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง มักจะยังคงคุณค่าด้านคุณภาพและสารอาหารได้อีกนานหลังวันที่แนะนำให้บริโภค การที่จะพิจารว่าควรรับประทานหรือทิ้ง จึงควรสังเกตจาก วันที่ระบุไว้ว่าให้บริโภคก่อน ร่วมกับการสังเกตลักษณะโดยทั่วไปของอาหารนั้น หากเห็นว่าอาหารมีลักษณะ สี กลิ่น และรสเปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่ควรรับประทาน
 

ที่มา : หนังสือ HealthToday