ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คืออะไร?

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คืออะไร?

ยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ผู้บริโภคจึงรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ได้รวดเร็วกว่าในอดีต ตลอดจนมีแหล่งในการจับจ่ายสินค้าได้หลากหลายช่องทาง อาทิ ซื้อจากร้านค้า สั่งซื้อทางไปรษณีย์ อินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ผ่านช่องทางการขายตรง ทำให้ง่ายต่อการแสวงหาสินค้าที่คิดว่าสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่ายตามแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกลุ่มที่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยให้ สุขภาพดี โดยเหตุผลของการ รับประทานเป็นเพราะวิตกกังวลว่าร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน กลัวเกิดโรคภัยไข้เจ็บ บางท่านก็เชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยรักษาโรค หรือช่วยให้ร่างกายสมส่วน ผิวพรรณ สวยงามขึ้น

ผู้บริโภคจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดนั้นส่วนมากมักจะขึ้น อยู่กับข้อมูลที่ผู้บริโภคได้รับทราบจากสื่อโฆษณา และจากบุคคลรอบข้าง โดยอาจจะไม่ได้ศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นก่อนตัดสินใจซื้อหรือบริโภค

บทความฉบับนี้จึงนำผู้บริโภคมาทำความรู้จักกับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ว่าคืออะไร มีข้อมูลใดที่ผู้บริโภคควรต้องทราบ ตลอดจนข้อกฎหมายและบทลงโทษ สำหรับผู้ฝ่าฝืนโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งยังลดปัญหาการ ถูกลวงจากโฆษณาได้อีกด้วย

ทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จัดเป็นอาหารประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรงนอกเหนือจากการรับประทานอาหาร หลักตามปกติเพื่อเสริมสารบางอย่าง มักอยู่ในรูปลักษณะเป็นเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น และมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ มิใช่สำหรับผู้ป่วย และไม่ควรให้เด็กและสตรีมีครรภ์รับประทาน

ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาทิ น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูลิน่า กระดูกอ่อนปลาฉลาม น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส กลูโคแมนแนน ไคโตซาน เส้นใยอาหาร คอลลาเจนอัดเม็ด ชาเขียวชนิดสกัดบรรจุแคปซูล โค เอ็นไซม์คิวเท็น แคปซูล ฯลฯ

ข้อควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

1. โดยทั่วไปแม้พบว่ารูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะใกล้เคียงกับ ผลิตภัณฑ์ยา แต่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษา หรือบรรเทาโรคใดๆ ตลอดจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในร่างกาย หรือ ช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายได้

2. ขั้นตอนในการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อจำหน่ายแตกต่าง จากการขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งต้องมีกระบวนการพิจารณาเรื่องประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ประจักษ์ แน่ชัดก่อนว่าสามารถรักษา หรือ บำบัด บรรเทาโรคได้จริง ถึงจะอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้

ดังนั้นจึงห้ามมิให้โฆษณาเผยแพร่ในเชิงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรักษาหรือบรรเทาโรคใด ๆ เพราะการโฆษณาเช่นนั้นเป็นการกล่าวอ้างสรรพคุณทางยา

3. ต้องไม่โฆษณาโดยทำให้เข้าใจว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเพียง อย่างเดียวจะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้ แต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะต้องบริโภคอาหารหลักให้ครบส่วน รวมทั้งการออกกำลังกายและการพักผ่อนที่เหมาะสมด้วย

4. ไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างหรือรับรองคุณภาพคุณประโยชน์โดยบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ

5. การโฆษณาโดยการแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิดที่เป็น ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น สามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง

6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดมีการแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือกระทำการโฆษณาโดยกล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขาย ต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลากเพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย

7. ต้องไม่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนักหรือสามารถใช้ลดน้ำหนักได้

8. การที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยาแล้ว แสดงว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองเฉพาะสรรพคุณตามที่ขออนุญาต ซึ่งกำหนดให้ระบุบนฉลาก ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียด บนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง ไม่ควรเชื่อจากการกล่าวอ้างของผู้ขาย

9. การพบเอกสารวิชาการ บทความ หรือคอลัมน์สุขภาพ เอ่ยถึงสารเคมีหรือวัตถุดิบที่สกัดจากธรรมชาติที่มีการกล่าวถึงการช่วยรักษา โรค หรือ ช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในร่างกาย ตลอดจนช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย เช่น กล่าวว่าช่วยรักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมันส่วนเกิน หรือ ลดริ้วรอยปัญหาจุดด่างดำฝ้ากระบนใบหน้า ฯลฯ

อาจทำให้ผู้บริโภค หรือผู้จำหน่ายเชื่อมโยงข้อมูลด้วยตนเองจนก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือความเชื่อที่ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีสารนั้นสามารถรักษา บรรเทาโรค หรือเปลี่ยนแปลงร่างกายตนเองได้

ซึ่งเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง เนื่องจากปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นยังมีปริมาณไม่ถึงขนาดที่ใช้ในการป้องกัน บำบัด รักษาโรค หรือเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน ตลอดจนโครงสร้างร่างกายได้

การผลิต/จำหน่าย/โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

1. ผู้ ประสงค์ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อจำหน่ายตาม ร้านค้า หรือจำหน่ายในลักษณะการขายตรง นั้น ต้องมาขออนุญาตต่อสำนักงานคณะ-กรรมการอาหารและยา เสียก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ตลอดจนมีการแสดงฉลากที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงจึงจะอนุญาตให้จำหน่ายได้

2. การโฆษณา สรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อประโยชน์ทางการค้า ผ่าน ทางโทรทัศน์ วิทยุ วารสาร แผ่นพับ หรือด้วยวิธีขายตรง ผ่านสื่อเผยแพร่ต่าง ๆ อาทิ คู่มือสินค้า เอกสารประกอบการขาย อินเตอร์เน็ต ฯลฯ แม้แต่การขายตรงโดยใช้บุคคลพูดปากต่อปาก ถ้า เผยแพร่เฉพาะท้องถิ่นหรือจังหวัด สามารถยื่นขออนุญาต ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ แต่หากเผยแพร่ทั่วประเทศจำเป็นต้องขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอีกครั้งหนึ่งก่อนจึงจะเผยแพร่ได้

ฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เนื่องจากข้อมูลที่ระบุให้แสดงบนฉลากล้วน เป็นข้อมูลซึ่งผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากต้อง ตรวจสอบข้อมูลโฆษณาให้แน่ชัดแล้ว ผู้บริโภคควรต้องตรวจสอบข้อความบนฉลากให้มีการแสดงสาระสำคัญครบถ้วนตามที่ กฎหมายกำหนดด้วย โดยฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต / ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ในผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย) ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และ วันเดือนปีที่หมดอาย โดยมีคำว่า ”ผลิต “ และ ”หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย คำแนะนำในการเก็บรักษา ในกรณีที่มีการเจือสี แต่งกลิ่นรส ใช้วัตถุกันเสีย วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร หรือ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ต้องระบุบนฉลากด้วย

มาตรการพิจารณาโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและบทกำหนดโทษ

การกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วย ลดปัญหาการถูกลวงจากโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นเท็จ หรือเกินจริงได้ในระดับหนึ่ง โดยข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 นั้น มีมาตรการพิจารณาโฆษณา และบทกำหนดโทษ สำหรับผู้ฝ่าฝืน ดังนี้
 

มาตรการพิจารณาโฆษณา
บทกำหนดโทษ
1. ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ อาหารอันเป็นเท็จ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
2. ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ทางสื่อเผยแพร่ต่าง ๆ อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ หรือ ข้อความที่โฆษณานั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
3. เพื่อพิทักษ์ประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ผู้ทำการโฆษณา ปฏิบัติ ดังนี้
- ระงับการโฆษณาที่ไม่ได้รับการอนุญาต
- ระงับการโฆษณาที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่มีคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณตามที่โฆษณา
ผู้ ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่น้อยกว่าห้าร้อย บาทแต่ไม่เกินหนึ่งพันบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

เรียนรู้วิธีลดปัญหาการถูกลวงจากโฆษณา
“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อนี้ ขออนุญาตจาก อย. ถูกต้องหรือไม่” หรือ “ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง ใช้แล้วไม่เห็นผลตามคำโฆษณา” ข้อความเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามักได้รับการสอบ ถาม หรือร้องเรียนจากผู้บริโภคอยู่เสมอ จึงกล่าวได้ว่าปัญหาที่ผู้บริโภคกังวล และมักจะพบจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ ถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่คุ้มค่า สมประโยชน์ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจาก ได้รับข้อมูลโฆษณาที่เป็นเท็จ หรือเกินจริงนั่นเอง

 

จากการตรวจสอบพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้บริโภคจะเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงว่าการระบุว่ารักษาโรคได้ หรือกล่าวอ้างสรรพคุณต่าง ๆ อาทิ ลดความอ้วน ขจัดไขมันส่วนเกิน รักษาฝ้า ฯลฯ ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการ-อาหารและยา ว่าเห็นผลจริงตามที่โฆษณา

เมื่อซื้อไปรับประทานแล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้าง จึงสงสัยว่าเหตุใดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงอนุญาตให้จำหน่ายได้ แต่ในความเป็นจริงคือ ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายทำการโฆษณาโดย ไม่ได้นำข้อความหรือรูปภาพมาขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน สรรพคุณที่โฆษณาจึงไม่ตรงกับที่ได้ขอขึ้นทะเบียนอาหารหรือขอใช้ฉลาก ดังนั้นควรเรียนรู้ วิธีลดปัญหาการถูกลวงจากโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งทำได้ไม่ยาก ดังนี้

1. เปรียบเทียบข้อมูลโฆษณาที่ได้รับกับฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างกล่อง หรือขวด ถ้าไม่ตรงกันก็ควรหลีกเลี่ยง หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจซื้อ

2. สังเกตฉลากเพื่อหาข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรค โดยถ้าพบผลิตภัณฑ์ใดแสดงเครื่อง-หมาย อย. บนฉลาก แสดงว่าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในรูปของอาหาร จึงไม่สามารถรักษาโรคใด ๆ ได้ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก แต่จะแสดงเป็นเลข-ทะเบียนตำรับยาระบุบนฉลากแทน ลักษณะของเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงบนฉลาก ตัวอย่างเช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1 A 9999/46 หรือ เลขทะเบียนที่ 1 G 3996/ 44 หรือ Reg.No. 1K 3333/28 เป็นต้น

3. ข้อความโฆษณาต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา ลักษณะของเลขอนุญาตโฆษณา ตัวอย่างเช่น ฆอ. 9988/2543 หรือ ฆอ. 10200/2546 เป็นต้น ซึ่งรวมถึงคำพูดที่ผู้จำหน่ายอธิบายประกอบการขายผลิตภัณฑ์ ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว

สำหรับข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นเพียงบางแง่มุมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาเลือกซื้อเบื้องต้นเท่านั้น การจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่สามารถ ตัดสินใจได้อย่างอิสระโดยเลือกหนทาง ที่เห็นว่าเหมาะสมและคุ้มค่ากับตนเองมากที่สุดได้ อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองใคร่ขอแนะนำหลักปฏิบัติ ดังนี้คือ อย่าหลงเชื่อง่าย อย่าหน่ายตรวจสอบ ต้องอ่านฉลาก สอบถามผู้รู้ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกล้าปกป้องสิทธิ์ตนเอง

เอกสารเผยแพร่ของ อย.

บรรณานุกรม

นฤมล โกมลเสวิน. “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร .” วารสารโภชนาการ ปีที่ 35, ฉบับที่ 2 (2543) : 122-127.
“ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 238 (พ.ศ.2544) เรื่อง อาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ .” ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม 118 ตอนพิเศษ 90 ง ลงวันที่ 14 กันยายน 2544.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . กองควบคุมอาหาร . เอกสารเผยแพร่ เรื่อง “การโฆษณาขายตรงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร.” (โรเนียว) , (ม.ป.ท.) , 2546.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. กองควบคุมอาหาร . เอกสารเผยแพร่ เรื่อง “ หลักเกณฑ์ทั่วไปในการพิจารณาคำขอโฆษณา อาหาร.” (โรเนียว) , (ม.ป.ท. , ม.ป.ป.)