โรคตับ

โรคตับ

หากจะกล่าวถึงอวัยวะภายในร่างกายที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ ตับเป็นอวัยวะหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึง เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้อยู่ดีมีสุข และทำหน้าที่ขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้โรคติดเชื้อ ตลอดจนกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ออกจากเลือด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดี ซึ่งทำหน้าที่ในการดูดซึมไขมันและวิตามินชนิดละลายในน้ำมัน

สำหรับโรคร้ายที่เกิดกับตับมีหลายโรคด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ตับอักเสบ ตับแข็งจากการดื่มสุรา ไขมันสะสมในตับ โรคตับที่เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่สนใจในการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก็อาจทำให้โรคตับลุกลามกลายเป็น มะเร็งตับในที่สุด

ปัจจัยที่มีผลให้มีโอกาสเกิดเป็นโรคต่างๆ เกี่ยวกับตับ ได้แก่

  1. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และเรื้อรังจนเป็นตับแข็ง
  2. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี เรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษา ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นตับแข็งหรือเป็นมะเร็งตับ
  3. โรคตับอักเสบจากไขมัน เกิดจากภาวะที่มีไขมันสะสมที่ตับเป็นจำนวนมาก อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งได้ ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคอ้วน หรือในคนปกติก็ได้
  4. การรับประทานยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ทำให้ตับทำงานหนักและมีโอกาสเกิดการอักเสบ
  5. การได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ เช่น สารหนู (arsenic) ทำให้ตับทำงานหนักและเกิดการอักเสบ

การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำลายตับได้อย่างไร ­

โดยทั่วไปแล้วเราทราบกันดีแล้วว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทำให้เกิดโรคตับแข็งได้ อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกคนจะต้องเป็นโรคตับแข็ง เสมอไป เมื่อลองพิจารณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ พบว่า

  ปริมาณแอลกอฮอล์
(กรัมต่อ 100 มล.)
ปริมาณแอลกอฮอล์
ต่อการดื่ม 1 ส่วน
เบียร์ 4 13 กรัมต่อ 1 กระป๋อง
ไวน์ 12 12 กรัมต่อ 1 แก้ว
วิสกี้ 40 15 กรัมต่อ 2 ฝา

 

ดังนั้นไม่ว่าจะดื่มเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์มากหรือ น้อย โดยเฉลี่ยแล้วท่านจะได้รับปริมาณแอลกอฮอล์ในระดับใกล้เคียงกัน ในทางการแพทย์ถือว่าการได้รับแอลกอฮอล์ 12 - 15 กรัม เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย ทางวงการแพทย์พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์วันละไม่เกิน 2 หน่วยในผู้ชาย และ 1 หน่วยในผู้หญิง ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ แต่การดื่มวันละ 5 หน่วยขึ้นไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตับได้

ผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับนั้นพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic Fatty Liver ) มีการสะสมของไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ระยะนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการใดๆ การตรวจร่างกายอาจพบว่าตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบ กด ไม่เจ็บ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย ไม่เฉพาะเจาะจง ผู้ป่วยในระยะนี้ถ้าหยุดดื่มสุราตับจะสามารถกลับเป็นปกติได้

ระยะที่ 2 ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการหลายแบบ เช่น จุกแน่นที่บริเวณชายโครงด้านขวา หรือมีอาการรุนแรง เช่น อาการดีซ่าน ไข้สูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางสติสัมปชัญญะตลอดจนตับวายได้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมอง ได้แก่ อาการสับสน วุ่นวาย หรือ อาจหมดสติ ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีภาวะขาดสารอาหารและวิตามิน และเป็นกลุ่มผู้ที่มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง การตรวจร่างกายมักพบว่าตับมีขนาดใหญ่และกดเจ็บ เนื้อของตับเริ่มจะแข็งกว่าระยะแรก การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการจะพบความผิดปกติของการทำงานของตับได้อย่าง ชัดเจน การรักษาคือการหยุดดื่มโดยเด็ดขาด และควรได้รับอาหารและวิตามินเสริมอย่างเพียงพอ

ระยะที่ 3 ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis) เป็นระยะสุดท้ายที่พบว่ามีพังผืดเกิดขึ้นใน
เนื้อตับ ทำให้ตับมีลักษณะผิวไม่เรียบ ขรุขระ เป็นก้อน ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน ท้องมาน หรืออาเจียนเป็นเลือดสดๆ เนื่องจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก นอกจากนี้ผู้ที่เป็นตับแข็งจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของตับเพิ่มขึ้น อีกด้วย ผู้ป่วยระยะนี้ตับจะมีการเสียหายอย่างถาวร และจะไม่สามารถกลับเป็นตับปกติได้อีก การหยุดดื่มจะช่วยป้องกันมิให้เกิดการเสียหายต่อเนื้อตับเพิ่มขึ้นกว่าที่ เป็นอยู่แล้ว ควรหยุดดื่มอย่างถาวรและรับประทานอาหารที่มีคุณค่า เนื่องจากผู้ป่วยในระยะนี้มักจะอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ

เชื้อไวรัส ทำลายตับได้อย่างไร ­

เชื้อไวรัส เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบบ่อย รองลงมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ดี ชี อี และชนิดที่ไม่ใช่เอและบี โดยชนิดที่พบบ่อย คือ

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการกินเชื้อเข้าไปทางปาก เช่น อาหาร ผัดสด ผลไม้ น้ำดื่ม ที่ปนเปื้อน เชื้อนี้ ทำไม่สุก ไม่สะอาด ไม่ต้มเดือด เป็นต้น ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ประมาณ 2- 6 สัปดาห์ มีอาการที่ชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อไวรัสนี้คงทรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน บางครั้งจึงพบมีการระบาด ในชุมชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี มีคนเป็นพาหะที่สำคัญ พบในประชากรโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม เป็นต้น ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น ทางเพศสัมพันกับผู้ที่เป็นพาหะ ทารกติดจากมารดาระหว่างคลอด ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ เฉลี่ย 60 - 90 วัน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติ ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

สำหรับการรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัส ยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การพักผ่อนเต็มที่ในระยะต้นจะทำให้อ่อนเพลียลดลง งดการออกแรงออกกำลังกาย การทำงาน งดการดื่มสุรา รับประทานอาการอ่อน ย่อยง่าย น้ำหวาน น้ำผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงอาการไขมันสูงในระยะที่มีคลื่นไส้ อาเจียนมาก ในรายที่อาการมากอาจให้สารน้ำเข้า เส้นเลือดดำ ให้ยาแก้คลื่นไส้ หรือวิตามิน เป็นต้น

ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์

เป็นภาวะที่มีไขมันไปสะสมแทรกอยู่ในเซลล์ตับ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับคือ ภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) และเบาหวาน ผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า nonalcoholic steatohepatitis (NASH)บางรายจะมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลียและอาจมีตับโตจนคลำได้ ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง Cirrhosis แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบและตับแข็ง

การรับประทานยาเป็นเวลานาน ทำลายตับได้อย่างไร ­

เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการกำจัดยาออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานจะรบกวนการทำงานของตับหรือ อาจมีผลอันไม่พึงประสงค์ต่อตับได้ โดยปกติเมื่อได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ตับจะทำหน้าที่ผลิตเอ็นไซม์ที่มีหน้าที่ในการทำปฏิกิริยากับยาและกำจัดส่วน ที่เหลือออกจากร่างกาย แต่ถ้าร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานานตับก็จะไม่สามารถทำลายได้ทัน เหลือเป็นส่วนเกินและมีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวายได้

ตับอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร ­

เป็นอาการที่ตามมาเมื่อมีปัญหาไขมันพอกตับ หรือมีการติดเชื้อไวรัส ถ้ามีการตรวจเลือดจะพบค่าเอ็นไซม์ที่แสดงการทำงานของตับ SGOT และ SGPT สูงผิดปกติ ยิ่งสูงมากแสดงว่ามีการอักเสบมาก ถ้าจะให้ชัดเจนต้องมีการนำชิ้นเนื้อตับไปตรวจ สาเหตุที่ทำให้มีการอักเสบได้แก่ การมีไขมันในเลือดสูงทำให้มีไขมันในตับสูงด้วย ที่พบมากในประเทศไทยคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การใช้ยาแผนปัจจุบันบางชนิดหรือยาสมุนไพร โดยกระบวนการที่ทำให้เกิดการอักเสบเกิดจาก Oxidative Stress ซึ่งทำให้เซลล์ตับอ่อนแอ ติดโรคง่าย รวมทั้งคนไข้กลุ่มนี้มักมีภาวะ Insulin Resistance คือตับอ่อนผลิตอินซูลินได้เพียงพอ แต่ไม่พอที่จะทำให้น้ำตาลเข้าไปในเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันได้เต็มที่ ทำให้มีไขมันที่มาจากแป้งและน้ำตาลในเลือดมากขึ้นและในตับก็เพิ่มขึ้นด้วย

หลักในการรักษาคือการปฏิบัติตัว ถ้าอ้วนกว่าปกติก็ต้องพยายามลดน้ำหนัก ถ้ามีไขมันสูงทั้งโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ ต้องลดการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ถ้าดื่มสุราต้องเลิกเด็ดขาด และถ้าต้องรับประทานยาชนิดใดๆ เป็นเวลานาน ต้องปรึกษาแพทย์เรื่องการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ

ตับแข็ง เกิดขึ้นได้อย่างไร ­

"ตับแข็ง" คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกกว่า 25,000 คนต่อปี หรือ 70 คนต่อวัน อาการเมื่อก้าวสู่โรคตับแข็ง เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะที่เกิดแผลเป็นขึ้นที่เนื้อตับหลังจากที่มีการอักเสบ เนื้อตับที่อยู่รอบๆ จะพยายามสร้างเนื้อเยื่อประเภทพังผืดขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไป ส่งผลให้เลือดที่ไหลผ่านตับถูกอุดกั้น ไหลไม่สะดวก และสมรรถภาพการทำงานลดลง อาการที่จะเกิดกับผู้ป่วยจึงอาจแบ่งได้เป็น อาการที่เกิดจากการทำงานของตับลดลงเช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หากอาการมากขึ้นจะมีการสร้างโปรตีนลดลงทำให้เท้าบวม มีน้ำในช่องท้อง อาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองเป็นดีซ่านได้ นอกจากนั้นอาจมีอาการจากพังผืดดึงรั้งในตับทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เกิด เส้นเลือดขอดในหลอดอาหารอาจตามมาด้วยการอาเจียนเป็นเลือด ในรายที่เป็นมากอาจซึม หรือในระยะยาวอาจเกิดมะเร็งตับได้

มะเร็งตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร

มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งชายและหญิง มักเกิดในคนอายุ 35-55 ปี แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่

มะเร็งเซลล์ตับ เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับสัมพันธ์กับการเป็นโรคตับอักเสบและตับแข็ง และสาเหตุที่สำคัญคือสารอะฟลาท็อกซินที่เป็นสารพิษจากเชื้อราโดยเฉพาะจาก ถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม

มะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี พบว่าสัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ในตับและสารไนโตรซามีนจากอาหารโปรตีนที่ผ่าน การแปรรูป เช่น ปลาร้า ปลาส้ม แหนม กุนเชียง

อาการที่พบในขั้นต้นคือ การเบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย และผอมลงอย่างรวดเร็ว คลำได้ก้อนแข็งบริเวณใต้ชายโครง ถ้าปล่อยไว้จะมีอาการแทรกซ้อนและลุกลามไปอวัยวะอื่น

อาการเตือนเมื่อตับมีปัญหา

เท้าบวม ท้องบวม อาจมีตาเหลืองเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม ที่หน้าอก จมูก ต้นแขน อาจมีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำลายข้างหูอาจโตคล้ายคางทูม และอาจมีอาการขนร่วงในผู้ชายอาจพบอาการนมโตและเจ็บเรียกว่า ไกนีโคมาสเตีย (Gynecomastia) ตับอาจคลำได้ ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ ถ้าเป็นมาก จะพบว่ารูปร่างผอม ซีด ท้องโตมาก เส้นเลือดพองที่หน้าท้อง มือสั่น ม้ามโต นิ้วปุ้ม

อาการแทรกซ้อน

ภูมิต้านทานโรคลดลงทำให้เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ถ้าเป็นเรื้อรังจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหาร (Esophageal Varices) เกิดแตกซึ่งอาจช็อกถึงเสียชีวิตได้ ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้เลยก็จะเกิดอาการหมดสติเรียกว่า ภาวะหมดสติจากตับเสีย (Hepaticcomal) นอกจากนี้ยังพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งในตับสูงกว่าคนปกติ

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตับแข็ง

ที่สำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือดื่มแต่ปริมาณน้อยๆ ไม่ดื่มประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสารพิษโดยไม่รับประทานอาหารเก่าเก็บ หรือขึ้นรา หากเป็นตับแข็งแล้ว ต้องรู้จักเลือกบริโภคอาหาร ต้องเลือกโปรตีนที่สะอาด ซึ่งเมื่อย่อยแล้วไม่ทำให้เกิดสารพิษที่มากเกินไปจนตับไม่สามารถกำจัดได้หมด เลือกรับประทานไขมันชนิดที่ไม่ต้องย่อยเพราะตอนนี้ระบบการย่อยไขมันทำงานไม่ สมบูรณ์ซึ่งไขมันดังกล่าว คือ กรดไขมันที่จำเป็น นอกจากนี้ยังควรบริโภคอาหารเสริมที่มีคุณสมบัติดักจับอนุมูลอิสระ เพื่อเป็นการขจัดสารพิษที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับหลังจากเป็นตับแข็งแล้ว

 
เอกสารอ้างอิง
 
  1. นายแพทย์สุรพงษ์ อำพันวงษ์, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
     
  2. ดร.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ “บทบาทของ Cytochrome P450 ในขบวนการเมตาบอลิซึมและพิษของยา” : งานวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์
  3. นัยนา บุญทวียุวัฒน์, (2546), “แอลกอฮอล์กับโภชนาการและสุขภาพ”, ชีวเคมีทางโภชนาการ, กรุงเทพฯ : บริษัท ซิกม่า ดีไซน์ กราฟฟิก จำกัด
     
  4. “Alcoholism” “Hepattitis” Encyclopedia of Natural Medicine, 2nd Ed.
     
  5. Guideline for prevention and treatment of viral hepatitis.Oct 2005.
     
  6. Friedman, Scott E.; Grendell, James H.; McQuaid, Kenneth R. (2003).Current diagnosis & treatment in gastroenterology, New York: Lang Medical Books/McGraw-Hill, p664-679, ISBN 0-8385-1551-7
     
  7. Keeffe, Emment B; Friedman, Lawarence M. (2004). Handbook of liver diseases, Edinburgh; Chruchill Livingstone, 104-123.
     
  8. Andrade RJ, Lucena MI, Kaplowitz N, et al (2006). ‘ Outcome of acute idiosyncratic drug-induced liver injury: Long- term follow-up in a hepatotoxicity registry”, Hepatology 44 (6): 1581-8
     
  9. Donald Blumenthal; Laurance Bruton; Keith Parher; Lazo, John S.; lain Buxton. Goodman and Gilman’s Pharmacalogical Basis of Therapeutics Digital Edition. McGraw-Hill Professional.
     
  10. Lynch T, Price A (2007),” The effect of cytochrome P450 metabolism on drug response, interactions, and adverse effects”, American family physician 76 (3): 391-6